Like กันนะ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาหารกรดไหลย้อน‬

กรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนมักจะเป็นเรื้อรัง พอหยุดยาก็กำเริบอีก จนต้องคอยกินยาไปเรื่อยๆ ที่ไม่หายขาด ก็เนื่องเพราะโรคกรดไหลย้อน มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดที่ปลายหลอดอาหาร คือเกิดการเสื่อมสมรรถภาพ มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี แต่ก็พบในเด็กและคนวัยหนุ่มสาวก็ได้ กล้ามเนื้อหูรูดไม่สามารถรูดปิดปลายหลอดอาหารได้สนิท จึงมีน้ำย่อย (ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด) ไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดแสบหรือจุกแน่นที่ลิ้นปี่ บางครั้งมีอาการเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย หรือมีอาการจุกที่คอหอย

บางคนมีกรดไหลย้อนไปที่ลำคอและช่องปาก ระคายเคืองส่วนต่างๆ ในช่องปาก ลำคอ และบริเวณโดยรอบ ทำให้มีอาการเจ็บคอ เสียงแหบหรือไอ ทุกวัน เรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนหลังตื่นนอนทุกเช้า บางคนไอหลังอาหารเกือบทุกมื้อ บางคนมีอาการฟันกร่อน ไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหืดกำเริบ บางคนอาจสำลักเอาน้ำย่อยเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบได้ หากปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการรักษา นานๆ เข้าอาจเกิดแผลที่ปลายหลอดอาหาร และปลายหลอดอาหารตีบ รวมทั้งอาจกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

วิธีการดูแลตนเองในการเอาชนะโรคกรดไหลย้อน ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่นที่เป็นเหตุกำเริบ เช่น ของมัน ของเปรี้ยว (รวมทั้งผลไม้ และน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หรือมีฤทธิ์เป็นกรด) ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ แต่โชคดีที่กินของเผ็ด และดื่มช็อกโกแลตได้ (ซึ่งอาจเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยบางคน)
2. ระวังไม่กินอิ่มจัด กินอาหารเย็นให้เร็วขึ้นและปริมาณน้อยลง ตามสูตร “(อาหาร) เช้า(เป็น) หลัก หนัก (อาหาร) เที่ยง เลี่ยง (อาหาร) เย็น เว้น (อาหาร) ดึก” เมื่อก่อนกินอาหารเย็นตอน 2-3 ทุ่ม หันมากินตอน 6 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม ทิ้งช่วงอย่างน้อย 3 ชั่วโมงหลังอาหาร ค่อยเข้านอน
3. หลังกินอาหาร หลีกเลี่ยงการนั่งก้มตัว คู้ตัว หรือล้มตัวลงนอน หรือยกของหนัก ปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม
4. กลางคืนนอนเตียงที่สามารถปรับให้ศีรษะสูงกว่าช่วงท้อง ราว 6 นิ้ว นอนในท่าเอียงลาด ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนไปที่ลำคอและช่องปาก
5. พกยาลดการสร้างกรด ไว้กินทันทีที่มีอาการกำเริบเพราะเผลอไปทำเหตุกำเริบของโรคเข้า ซึ่งช่วงหลังจะเจอนานๆ ที

Cr.มูลนิธิหมอชาวบ้าน

Comments