Like กันนะ

“อาร์เอฟเอส” ผนึก “อีซีอาร์ไอ” ปั้นบุคลากรคุณภาพ ป้อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เสริมศักยภาพผงาดในระดับสากล

POSTER B3_353x500 

อาร์เอฟเอส (RFS) ประกาศเดินหน้าปั้นบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์ (Biomedical Engineering Competency Training : BECT®) ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หลังประสบความสำเร็จลงนามกับสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute) ปีที่ผ่านมา นำร่องจัดอบรม 6 หลักสูตรรวด เน้นเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์ หวังเพิ่มทักษะเสริมศักยภาพตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการ พร้อมรองรับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล มั่นใจภายใน 2 ปีผลิตบุคลากรคุณภาพ 250 ราย  

ผศ.เยาวนุช คงด่าน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด หรือ RFS บริษัทในเครือมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจัดตั้งและถือหุ้นโดยคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ในโรงพยาบาล (Hospital Facilities Management) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Healthcare) ในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2556 แบ่งเป็นอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชน 70,000 ล้านบาท, การส่งเสริมสุขภาพ 20,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยว 50,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ณ วันที่ 14 มกราคม 2557) ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2558 อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20%

“ประเทศไทยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจำนวนมาก ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคนต่อปี ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในสาขาดังกล่าวไม่ถึง 10 แห่ง แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรสู่ตลาดไม่เกิน 150 ราย และ 50% ของนักศึกษาที่เรียนจบประกอบอาชีพอื่น ประกอบกับในอนาคตบุคลากรทางด้านนี้จำเป็นต้องมีมาตรฐานใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้น อาร์เอฟเอส (RFS) จึงเล็งเห็นความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ให้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดอบรมด้านเครื่องมือแพทย์ (Biomedical Engineering Competency Training : BECT®) ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีการส่งบุคลากรเข้าอบรมเพื่อให้สามารถนำความรู้มาถ่ายทอดกับบุคลากรในไทยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

สำหรับปี 2558 อาร์เอฟเอส (RFS) เดินหน้าความร่วมมือต่อเนื่อง โดยยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยการจัดอบรมด้านเครื่องมือแพทย์ (Biomedical Engineering Competency Training : BECT®) 6 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรเครื่องช่วยหายใจ, หลักสูตรระบบติดตามสัญญาณชีพ, หลักสูตรตู้อบเด็กทารกแรกเกิดและเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า, เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด, เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเครื่องวัดความดันโลหิต และหลักสูตรบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยจะเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมความรู้ด้วยบทความวิชาการจากสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute) ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะความสามารถตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ ทั้งยังเป็น Value Added ที่แตกต่างจากหลักสูตรอบรมทั่วไป

ผศ.เยาวนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายของการจัดอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย บุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ และนักศึกษาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพให้ตนเอง ซึ่งทั้ง 6 หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเครื่องมือแพทย์พื้นฐานที่ทุกโรงพยาบาลต้องใช้ อีกทั้งผ่านการคิดค้นและพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากว่า 10 ปี มีการฝึกนำไปฝึกอบรมในหลายประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกไม่น้อยกว่า 500 ราย อาทิ มาเลเซีย, ฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และไต้หวัน เป็นต้น จึงเชื่อว่าหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

“ทั้งนี้ บุคลากรที่ผ่านการอบรมในแต่ละหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute) ซึ่งนับเป็นใบรับรองมาตรฐานด้านเครื่องมือแพทย์ระดับโลกรายแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับมาตรฐานของบุคลากรในการประกอบวิชาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในประเทศไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการก้าวสู่ระดับสากลจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตด้วย โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปีแรกจะสามารถผลิตบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ได้ประมาณ 250 ราย และในอนาคตมีแผนขยายหลักสูตรอบรมพร้อมจัดสัมมนาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี” 

Comments