Like กันนะ

#PR ข่าวสัมภาษณ์พิเศษ-นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือ สภาพัฒน์)



กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การดำเนินงานของ กสทช. เดินหน้ารุกปรับแผนแม่บทวิจัยและพัฒนาฯ ฉบับใหม่ปี 2560 – 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงนโยบาย Thailand 4.0 ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ ทั้งนี้ กทปส. ต้องการมุ่งยกระดับคุณภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม และยังมุ่งเสริมสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยแผนฉบับใหม่ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) นี้ ได้ถูกปรับเงื่อนไข กฎกติกาต่างๆ เพื่อเปิดกว้างให้แก่กลุ่มสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ คณะครูอาจารย์ รวมถึงนิติบุคคล สามารถนำเสนอโครงการที่ตรงตามเป้าหมายของประเทศและสอดคล้องตามข้อกำหนดของ กทปส. เพื่อขอรับทุนสนับสนุนในด้านวิจัยและพัฒนาโครงการฯ โดยคาดว่าแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ จะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2560 นี้

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือ สภาพัฒน์) ในฐานะดำรงตำแหน่งกรรมการ กทปส. เปิดเผยว่า “ในแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ กทปส. ได้มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนให้ประเทศชาติเดินหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดย กทปส. ได้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการฯ ในการกำหนดหัวข้อโครงการและเป้าหมายที่ชัดเจนในการพิจารณาคัดเลือกโครงการ เพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงแรกได้มุ่งเน้นการเร่งพัฒนาใน 2 ส่วนหลักๆ คือ 1) การพัฒนาระบบโทรคมนาคมเพื่อสามารถนำไปใช้ในชุมชนอย่างทั่วถึง เนื่องจากยังประสบปัญหาเรื่องความไม่เสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ต และ 2) การเสริมสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสามารถต่อยอดและนำมาพัฒนาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง อาทิ ในด้าน Fintech หรือ นวัตกรรมที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น”

ดังนั้น การปรับแผนแม่บทวิจัยและพัฒนากองทุน กทปส. ครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ยุค Digital Economy และยังเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดย กทปส. ได้เปิดกว้างให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้กับประเภทนิติบุคคล สามารถยื่นข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุนในด้านวิจัยและพัฒนามายัง กทปส. ได้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยจะให้ความสำคัญในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคนิค และราคาประกอบอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดโครงการที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ประเทศไทยและแผนแม่บทของ กสทช. มากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทย ยังต้องการผู้ที่สามารถปรับและออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (หรือ Creative Economy) อีกจำนวนมากเพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ หรือการใช้องค์ความรู้มาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่และปรับประยุกต์ใช้งานได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจริงๆ แล้ว อาจไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผลงานที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ หรือต้องทำวิจัยใหม่เสมอไป เพียงแต่สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาผสมผสานและสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัวจนเป็นผลงานชิ้นใหม่ ยกตัวอย่าง Apple หรือ Alibaba ที่ได้หยิบเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาผสมผสานรวมไว้ด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่กลับเป็นชิ้นงานเชิงความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทำให้สามารถเติบโตและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากมายมหาศาล ซึ่งหากในประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะเช่นนี้จำนวนมาก ก็จะสามารถพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พศ. 2560-2579) ที่ต้องการให้คนไทยมีความสุขผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไม่ยากนัก แต่ในขณะเดียวกันประเทศก็ต้องหาวิธีเพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อมารองรับความต้องการของชาติด้วยเช่นกัน”

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ กทปส. https://btfp.nbtc.go.th หรือ Facebook: กทปส. – กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ

Comments